สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินค้าจำนวนมาก ย่อมคาดหวังที่จะได้ใช้บริการคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บและช่วยบริหารจัดการสต็อกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้อย่างถูกต้องตามออร์เดอร์ ไม่ล่าช้า หรือตกหล่น เพื่อสร้างการขายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด แต่ยังมีปัญหาสต็อกสินค้าที่มักพบได้บ่อยในพื้นที่คลังสินค้า จนส่งผลให้การส่งของล่าช้า เสียหาย หรือไม่ถูกต้องตามต้องการ
ดังนั้น เพื่อช่วยผู้ให้บริการคลังสินค้าสามารถบริหารจัดการคลังสินค้าได้อย่างราบรื่น และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างลงตัว เราจึงขอชี้ชวนดูถึงปัญหาที่มักพบบ่อยในคลังสินค้า รวมถึง 6 เทคนิคในการจัดการพื้นที่คลังสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพมาแนะนำกัน
คลังสินค้าคืออะไร?
ก่อนจะไปดูปัญหาที่มักพบในพื้นที่คลังสินค้าได้บ่อย ๆ และเทคนิคในการบริหารจัดการสต็อกสินค้าในพื้นที่คลังสินค้า เราไปทำความรู้จักกับคลังสินค้ากันดีกว่า
คลังสินค้า คือพื้นที่ที่ใช้ในการจัดเก็บและรักษาสต็อกสินค้า เพื่อรอการขนส่งไปยังแหล่งจำหน่ายสินค้าปลายทาง หรือกระจายไปส่งมอบให้ถึงมือลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้า โดยคลังสินค้าที่มีรูปแบบการให้บริการครบวงจร จะมีหลากหลายบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกสินค้า บรรจุหีบห่อ ติดฉลากสินค้า และจัดส่งสินค้าไปยังผู้รับตามความต้องการของลูกค้า
ปัญหาที่มักพบในพื้นที่คลังสินค้าได้บ่อย
ในแต่ละพื้นที่คลังสินค้า ย่อมจะต้องเคยเจอกับปัญหาที่สร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ให้บริการคลังสินค้า รวมถึงสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้แก่ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้า เพราะว่าไม่อาจส่งสินค้าได้ครบถ้วนตามกำหนด และยังส่งผลให้สต็อกสินค้าเกิดความเสียหาย โดยปัญหาที่มักพบในพื้นที่คลังสินค้าได้บ่อย มีดังนี้
พื้นที่จัดเก็บสินค้าไม่เพียงพอ
สำหรับคลังสินค้าที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก เมื่อมีจำนวนสต็อกสินค้ามากขึ้น ย่อมต้องเผชิญกับปัญหาพื้นที่ในการจัดเก็บสต็อกสินค้าไม่เพียงพอ ทำให้การบริหารจัดการสต็อกสินค้าขาดประสิทธิภาพ เพราะต้องกระจายสินค้าไปวางตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง ยากต่อการเช็กจำนวนสต็อกสินค้า และการหาสินค้าเพื่อจัดส่งให้แก่ลูกค้า
สต็อกสินค้าไม่ตรง
คลังสินค้าที่ไม่มีกระบวนการจัดการคลังสินค้าที่ชัดเจน จนทำให้พนักงานในคลังสินค้าทำงานแบบไร้ทิศทาง จดบันทึกสต็อกผิดบ้าง หรือลืมจดบันทึกบ้าง หรือตัดสต็อกสินค้าทั้งที่ไม่มั่นใจว่าใช่สินค้าที่ต้องการจริงหรือไม่ อีกทั้งภายในพื้นที่คลังสินค้ายังไม่มีการแบ่งแยกชนิด ขนาด สีของสินค้าอย่างชัดเจน และไม่มีแผนผังพื้นที่คลังสินค้า ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาสต็อกสินค้าไม่ตรงได้
สต็อกสินค้าหมดอายุ
หนึ่งในปัญหาที่พบได้ในคลังสินค้า คือสต็อกสินค้าหมดอายุ จนไม่สามารถนำมาจัดจำหน่ายหรือส่งต่อไปยังลูกค้าได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากกระบวนการจัดการคลังสินค้าที่ไม่ชัดเจน และการไม่เช็กสต็อกสินค้าอย่างสม่ำเสมอ หรือเช็กสต็อกผิดพลาด
สต็อกสินค้าขาดหรือล้น
สต็อกสินค้าขาดจนไม่เพียงพอจะส่งให้ลูกค้า หรือสต็อกสินค้าล้นจนหมดอายุและเน่าเสียก่อนจะขายได้ กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้ในคลังสินค้า ที่มีการบริหารจัดการคลังสินค้าที่ผิดพลาด
สต็อกสินค้าได้รับความเสียหาย
ความเสียหายของสต็อกสินค้าไม่ได้เกิดจากการจัดการที่ผิดพลาดเท่านั้น แต่การเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างไม่ระมัดระวัง หรือใช้อุปกรณ์การเคลื่อนย้ายที่ขาดประสิทธิภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้ในคลังสินค้า เพราะจะส่งผลให้สินค้าตกหล่น แตกหัก เสียหาย จนนำไปจำหน่ายไม่ได้เช่นกัน
6 เทคนิคการจัดการพื้นที่คลังสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
1. จัดเก็บสินค้าให้เป็นระเบียบ
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการพื้นที่คลังสินค้ามีประสิทธิภาพคือ ควรจัดทำแผนผังคลังสินค้า เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่าสินค้าประเภทใด อยู่ในบริเวณพื้นที่ใด เพื่อให้พนักงานได้จัดเก็บสต็อกสินค้าได้อย่างเป็นระเบียบและถูกที่ ลดปัญหาหยิบสต็อกสินค้าผิด หรือนับสต็อกสินค้าพลาดได้
2. เช็กจำนวนสต็อกสินค้าสม่ำเสมอ
นอกจากการมีแผนผังคลังสินค้าที่ชัดเจนแล้ว ยังควรมีกระบวนการทำงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการพื้นที่คลังสินค้าอีกด้วย โดยต้องกำหนดวันที่ให้พนักงานเช็กสต็อกสินค้า และต้องทำตามวันที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสินค้าค้างหรือล้นสต็อกได้
3. เช็กวันหมดอายุของสินค้าเป็นประจำ
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรต้องทำอย่างสม่ำเสมอ คือการเช็กวันหมดอายุของสินค้า เพื่อจะได้นำสินค้าที่หมดอายุก่อนมาจำหน่ายก่อน หรือบริหารสต็อกสินค้าแบบ FIFO (First In First Out) คือ หยิบสินค้าแบบเข้าก่อนออกก่อน เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าหมดอายุคาสต็อก อีกทั้งยังควรมีพื้นที่จัดเก็บสินค้าส่วนเกิน หมดอายุ หรือสินค้าค้างสต็อกออกเป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันการนำสินค้ากลับมาปะปนกัน
4. จัดอบรมพนักงานอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากพนักงานในคลังสินค้าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการพื้นที่คลังสินค้ามีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงควรจัดอบรมพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พนักงานเห็นความสำคัญของการจัดการพื้นที่ของคลังสินค้าให้เป็นระเบียบ มีการตรวจเช็กสต็อกสินค้าอย่างสม่ำเสมอ และคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดในการเคลื่อนย้ายสินค้าอีกด้วย
5. ตรวจเช็กอุปกรณ์ภายในคลังสินค้าให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
อีกสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการพื้นที่คลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การมีอุปกรณ์ในคลังสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นชั้นเก็บสต็อกสินค้า ระบบลากสินค้า หรือรถยกเพื่อขนย้ายสินค้า และอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเช็กอุปกรณ์ภายในคลังสินค้าเป็นประจำ เพื่อให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ
6. ใช้ระบบลากสินค้าที่มีประสิทธิภาพในการขนย้ายสินค้า
สุดท้ายนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สินค้าในคลังสินค้าต้องเสียหาย จากขั้นตอนการจัดเก็บหรือว่าขนย้าย ผู้ประกอบการคลังสินค้าควรเลือกใช้ระบบลากสินค้า เพื่อการขนย้ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความปลอดภัยสูงสุด
ทั้งหมดนี้ คือเทคนิคการจัดการพื้นที่คลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพที่เรานำมาแชร์กัน สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจติดตั้งระบบลำเลียงสินค้าในโกดังหรือคลังสินค้า เพื่อความสะดวกในการขนย้าย และป้องกันความเสียหายของสินค้า แนะนำใช้บริการติดตั้งระบบลำเลียงสินค้าในโกดังหรือคลังสินค้า จาก SAMSON ที่พร้อมให้บริการโดยทีมงานมืออาชีพ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ โทร. 02-437-6666